จับตา สปสช. “ฟอกทุจริต” ให้ “คลินิกโกง” กลับมาเป็นคู่สัญญาใหม่ได้!?

Find latest world news

‘หมอเหรียญทอง’ เดินหน้าชน สปสช.ไม่ทำหน้าที่ Clearing House เงิน 13 ล้านบาท ในฐานะคู่สัญญาดูแลคนไข้บัตรทอง แถมยังบอกให้ไปฟ้องเอาเอง ระบุ รพ.รัฐหลายแห่งก็เจอปัญหาแต่ไม่กล้าโวย เพราะกลัว ‘บิ๊กตู่’ ด่า ส่วน รพ.เอกชนหลายแห่งพูดไม่ได้เพราะมีเอี่ยวทุจริต จับตา สธ. ร่วม สปสช. ‘ฟอกทุจริต’ ให้คลินิก ‘โกง’ กลับมาเป็นคู่สัญญาใหม่ได้ ‘หมอเหรียญทอง’ ยันรู้กระบวนการโกงเงินบัตรทอง ง่ายนิดเดียว แต่มงกุฎวัฒนะไม่คิดจะทำ ยืนยันจะไม่ถอนตัวจากการเป็นคู่สัญญาเพราะมีคนไข้บัตรทองถึง 5 แสนคน!

พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวอย่างต่อเนื่อง เปรียบเหมือนการประจานการทำงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้สังคมได้รับรู้ถึงการดำเนินงานที่ไม่ถูกต้องชอบธรรมในฐานะที่โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ คือคู่สัญญากับ สปสช.โดยตรง

โดยเฉพาะเมื่อ สปสช.ได้ตรวจสอบพบว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นในการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลจากเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) เมื่อกลางปี 2563 จนเป็นเหตุให้ สปสช.ยกเลิกสัญญากับโรงพยาบาลเอกชน และคลินิกชุมชนอบอุ่นในเครือข่าย สปสช. กว่า 200 แห่ง ส่งผลให้ประชาชนที่ใช้สิทธิบัตรทอง 2 ล้านกว่าคนในเขต กทม.ต้องประสบปัญหาในการรักษา แต่ในที่สุดกระทรวงสาธารณสุข และ สปสช.ก็สามารถแก้ปัญหาให้ผู้ป่วยบัตรทองได้รับการรักษาทั้งที่โรงพยาบาลรัฐสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลในสังกัดมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลสังกัด กทม. โรงพยาบาลเอกชน เป็นต้น

ซึ่งโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะก็เป็นหนึ่งในสถานพยาบาลเอกชนที่ สปสช.ขอให้ร่วมในการแก้ปัญหาเพื่อให้ผู้ป่วยบัตรทองมีสถานพยาบาลดูแลต่อไป จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ มีจำนวนผู้ป่วยมากขึ้นถึง 5 แสนคน เดิมมีผู้ป่วย OPD วันละประมาณ 400 คน ก็เพิ่มขึ้นเป็น 700 คน

ปัจจุบัน สปสช.กำลังปฏิเสธไม่รับผิดชอบค่าใช้จ่ายจากการรักษาคนไข้บัตรทองจากคลินิกที่มีการทุจริต และ สปสช.เป็นผู้ส่งคนไข้ดังกล่าวมาให้ รพ.มงกุฎวัฒนะ ช่วยดูแลต่อ

นี่คือประเด็นปัญหาที่หมอเหรียญทอง ต้องการฟ้องสังคมให้รับรู้ถึงการทำงานของ สปสช. และเรื่องนี้อาจไม่จบง่ายๆ เพราะมีการตั้งข้อสังเกตต่อไปว่า สปสช.กำลังมีกระบวนการ ‘ฟอกทุจริต’ ให้คลินิกและโรงพยาบาลเอกชนที่เคยทุจริตกลับเข้ามาเป็นคู่สัญญาใหม่จริงหรือไม่?

พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา
พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ บอกว่า คลินิกของเอกชน และของแพทย์ทั่วไปที่ถูกยกเลิกไปนั้นล้วนเป็นคู่สัญญากับ สปสช. แต่ด้วยคลินิกมีขีดจำกัดในการรักษา จึงต้องมีระบบส่งต่อ ซึ่ง รพ.รัฐ และ รพ.มงกุฎวัฒนะ ก็รับต่อมา แต่กลับกลายเป็นการสร้างความเดือดร้อนต่อเนื่องมายังโรงพยาบาลที่รับส่งต่อผู้ป่วยทั้งโรงพยาบาลรัฐ และ รพ.เอกชน ซึ่งเป็นคู่สัญญากับ สปสช. ซึ่ง สปสช.จะต้องทำหน้าที่หักค่ารักษาพยาบาลค้างจ่ายของคลินิกดังกล่าวให้แก่โรงพยาบาลที่รับการส่งต่อ

“ไปตามดูเลย รพ.รัฐก็เจอปัญหาเดียวกัน ศิริราช 70-80 ล้าน ภูมิพล 30 กว่าล้าน จุฬาฯ อีกหลายโรงพยาบาลก็เจอแบบเดียวกับมงกุฎวัฒนะ เพราะ สปสช.ปฏิเสธความรับผิดชอบในการทำหน้าที่หน่วยงานกลาง หรือที่เรียกว่า Clearing House ในการหักค่ารักษาพยาบาลค้างจ่าย แต่ รพ.รัฐไม่ออกมาโวย เพราะกลัวรัฐบาลด่าเอา ซึ่ง รพ.รัฐมีงบประมาณแผ่นดินให้ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเวชภัณฑ์ต่างๆ ค่าบุคลากร ไม่ต้องมาเสียดอกเบี้ย แต่เอกชนไม่ใช่ ทุกอย่างต้องจ่ายเองหมด ดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นก็ต้องจ่ายเองเช่นกัน”

ในส่วนของ รพ.มงกุฎวัฒนะ มีจำนวนเงินค้างจ่ายมากกว่า 13 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่รับรู้เป็นรายได้ทางบัญชีแล้ว และเป็นกำไรที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล 20% ในเดือนพฤษภาคมนี้ เป็นเงินประมาณ 2,600,000 บาท

“เราไม่สามารถปฏิเสธไม่จ่ายภาษีกรมสรรพากรได้ และจะให้ตัดเป็นหนี้สูญก็ไม่ถูกต้อง เพราะยารักษามะเร็งแพงมาก ซึ่ง รพ.มงกุฎ ก็ได้ช่วยกระจายความแออัดของ รพ.รัฐได้มาก เราเพิ่มบุคลากรรองรับถึง 3 เท่า ปิดเที่ยงคืน เสาร์ อาทิตย์ ไม่หยุด เพราะไม่อยากให้คนไข้บัตรทองเดือดร้อน”

หมอเหรียญทอง บอกว่า รพ.มงกุฎวัฒนะ เดินตามแนวทางของในหลวงรัชกาลที่ ๙ คือความพอเพียง ขอให้โรงพยาบาลอยู่ได้ คนไข้อยู่ได้ จึงอยากให้ สปสช.ปฏิบัติต่อคู่สัญญาอย่างถูกต้อง ที่ค้างชำระก็ควรจะจ่าย ไม่ใช่ทำตัวเหนียวหนี้ ซึ่งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รายได้ที่โรงพยาบาลมีอยู่แทบไม่พอจ่ายพนักงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นกับ รพ.มงกุฎวัฒนะ ที่อยู่ในสถานะขาดสภาพคล่อง จึงได้ขอให้ สปสช.จ่ายเงินดังกล่าว

“โครงการบัตรทองเป็นสิ่งที่ดีและควรส่งเสริมเพื่อดูแลประชาชน โรงพยาบาลเอกชนบางแห่งที่ต้องการกำไรมากๆ
จะไม่เสียเวลากับบัตรทอง แต่ผมยึดหลักในหลวงรัชกาลที่ ๙ คือความพอเพียง ผมจึงรับคนไข้บัตรทอง และบริหารแบบไม่ขาดทุน แต่ไม่ได้กำไรอะไรมากมาย แต่ผมพอใจและมีความสุข”

หมอเหรียญทอง ย้ำว่า ก่อนหน้านี้มีข่าวว่าคลินิกอบอุ่นที่มีการทุจริตนั้นส่วนใหญ่จะเป็นเครือข่ายของ รพ.มงกุฎวัฒนะ ก็อยากให้สังคมเข้าใจด้วยว่า รพ.มงกุฎวัฒนะ เป็นโรงพยาบาลเอกชนที่ไม่ได้เป็นเจ้าของคลินิกหรือเป็นผู้ถือหุ้นร่วมทุนกับเครือข่ายคลินิกต่างๆ ที่ สปสช.ยกเลิกสัญญา เหมือนกับโรงพยาบาลเอกชนอีกหลายแห่ง แต่เราเป็นโรงพยาบาลที่รับส่งต่อซึ่งเป็นคู่สัญญากับ สปสช.เท่านั้น

“เราเป็นโรงพยาบาลเอกชนที่ดีไม่ทุจริต ทั้งที่รู้ว่าวิธีการทุจริตการเบิกค่าตรวจคัดกรองกลุ่มโรคเมตาโบลิก ทำได้ง่ายนิดเดียว และยิ่งมีจำนวนคนไข้มากเท่าใดก็สามารถฟันกำไรจากการทุจริตได้มหาศาล คนไข้บัตรทองบางโรงพยาบาลน้อยกว่าเรามาก แต่เขาซิกแซ็กได้ไปตั้ง 80 ล้าน เรารู้วิธีและทำได้เนียนแต่ไม่ทำแน่ๆ”

สำหรับ รพ.มงกุฎวัฒนะ ถือเป็นโรงพยาบาลเอกชนเพียงแห่งเดียวที่ออกมาโวยในลักษณะประจาน สปสช.ทั้งที่มีโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งก็ไม่ได้รับเงินดังกล่าวเช่นกันแต่ไม่มีใครโวย ว่ากันว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งมีคลินิกที่เป็นเครือข่ายในสังกัดทั้งที่เป็นของโรงพยาบาลโดยตรง และ รพ.เข้าร่วมถือหุ้นด้วยที่ถูก สปสช.ยกเลิกเพราะมีการทุจริตเกิดขึ้น และคาดว่ากลุ่มเครือข่ายดังกล่าวจะต้องมีการแต่งตัวกันใหม่เพราะต้องการกลับเข้ามาเป็นคู่สัญญากับ สปสช.อีกครั้งหนึ่ง

“เราจะเห็นคลินิกหลายแห่งเตรียมเปิดตัว ขึ้นป้ายไว้แล้ว แต่ยังไม่สามารถเปิดได้เพราะทุกอย่างยังไม่เรียบร้อย คาดว่าสิ้นเดือนนี้จะมีคลินิกเครือข่าย รพ.เอกชนที่รู้จัก คุ้นเคย หรือเข้าไปมีบทบาทใน สปสช.เขต 13 จะได้เป็นคู่สัญญากับ สปสช.เกิดขึ้นอีกหลายแห่ง”

ขณะเดียวกัน หมอเหรียญทองได้โพสต์เฟซบุ๊กที่แสดงให้เห็นถึงความไม่ชอบมาพากลของ สปสช. เพราะขณะที่ สปสช.ไม่ทำหน้าที่ Clearing House ให้แก่โรงพยาบาลคู่สัญญา แต่กลับรู้เห็นเป็นใจให้คลินิกชุมชนอบอุ่นที่สปสช. บอกเลิกสัญญาจำนวนมากให้ไปเปลี่ยนชื่อสถานพยาบาล เปลี่ยนชื่อผู้ประกอบกิจการสถานพยาบาล เปลี่ยนชื่อผู้ดำเนินการสถานพยาบาล แล้วให้กลับมาเป็นคลินิกคู่สัญญาใหม่กับ สปสช.

กระบวนการที่ สปสช.ดำเนินการนั้น หมอเหรียญทอง เรียกว่า ‘เหล้าเก่าในขวดใหม่’ นั่นเอง และหมอเหรียญทอง ย้ำว่าจะประจานให้สังคมได้รับรู้พฤติกรรม สปสช.ที่รู้เห็นเป็นใจสมรู้ร่วมคิดฟอกทุจริต…ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ!

หมอเหรียญทอง บอกอีกว่า สิ่งที่ สปสช. แจ้งมาอย่างไม่เป็นทางการว่า ให้ รพ.มงกุฎวัฒนะ ไปฟ้องเรียกค่าเสียหายจากคลินิกดังกล่าวเอาเอง สปสช.จะไม่มีการจ่ายเงินดังกล่าว ทั้งที่อยากจะจ่ายแต่อัยการมีการทักท้วงไม่ให้จ่าย สปสช.จึงยังทำอะไรไม่ได้

“สปสช.บอกว่าอยากจ่ายผมนะ แต่อัยการทักท้วง เรื่องนี้เป็นเรื่องขององค์กรเขา เพราะความจริงมันต้องแยก เรื่องค้างโรงพยาบาลก็ต้องตัดคืน ส่วนที่เสียหาย สปสช.ต้องไปฟ้องไล่เบี้ยกับคลินิกที่ทุจริตจึงจะถูกต้องไม่ใช่เอาโรงพยาบาลพวกผมไปกลบหนี้ให้แล้วจะให้เราไปฟ้องร้องต่อศาลเรียกค่าเสียหายกับคลินิกเอาเอง ซึ่งมันต้องใช้เวลาหลายปี ผมไม่ทำแน่นอน ก็ต้องเลือกประจานกันต่อไป”

หมอเหรียญทอง ระบุว่า สปสช.ต้องการให้ รพ.มงกุฎวัฒนะ ถอนตัวด้วยเหตุผลเพราะออกมาโวยวายจึงอยากจะบอกให้สังคมและ สปสช.ได้รู้ เป็นสิ่งที่ รพ.มงกุฎวัฒนะ จะไม่ทำเด็ดขาด เพราะระบบบัตรทองเป็นหลักการที่ดี เพียงแต่ว่า สปสช. โรงพยาบาล คลินิก ต่างๆ ต้องบริหารให้ดี โรงพยาบาลเอกชนใหญ่ๆ ที่หวังกำไรมากๆ เขาไม่ต้องการร่วมอยู่แล้ว ซึ่งความจริงงบบัตรทองที่ได้มานั้นอยู่ได้ ไม่ขาดทุนและเป็นการช่วยเหลือคนจนได้เข้าถึงระบบประกันสุขภาพได้ด้วย

“ผมไม่ถอนตัวเพราะอย่างน้อยคน 5 แสนคน ก็รักษากับผมอยู่แล้ว ซึ่งถ้าผมถอนตัว ก็ต้องปลดพนักงาน กลายเป็นว่าถ้าผมทะเลาะเรื่องบัตรทองพนักงานของผมต้องตกงานหรือ อย่างผมจะไม่หนีปัญหาแน่และสิ่งที่ผมออกมาบอกสังคมก็ไม่กลัวที่จะถูกฟ้องดัวยเช่นกัน”