“คมนาคม” เปิดสถิติปีใหม่ 7 วันอุบัติเหตุ 1,651 ครั้ง สั่งเร่งถอดบทเรียนวางมาตรการเพิ่ม

ข่าวล่าสุด

“ศักดิ์สยาม” ประเมินผล 7 วันอันตรายปีใหม่ 2565 โครงข่ายคมนาคมเกิดอุบัติเหตุ 1,651 ครั้ง เสียชีวิต 193 ราย ส่วนรถสาธารณะเกิด 6 ครั้ง รถไฟ 6 ครั้ง สั่งสนข.วิเคราะห์ ถอดบทเรียน เร่งวางมาตรการแก้ไข

วันที่ 12 ม.ค. 2565 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมเพื่อประเมินผลการเดินทางช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2565 ของกระทรวงคมนาคม ผ่านการประชุมทางไกล (Video Conference) ด้วยระบบ Zoom Cloud Meetings ว่า ช่วงวันที่ 29 ธ.ค. 2564-4 ม.ค. 2565 รวม 7 วัน กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ให้บริการด้านคมนาคมขนส่งแก่ประชาชนอย่างเข้มข้น ภายใต้แนวนโยบาย “เดินทางสะดวก ปลอดภัย ห่างไกล COVID-19” ได้บรรลุเป้าหมายของแผนใน 3 มิติ ได้แก่ มิติความสะดวก มิติความปลอดภัย และมิติการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19

โดยพบว่าประชาชนเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ทั้งรถโดยสาร รถไฟ เรือโดยสาร และเครื่องบิน รวมจำนวน 9.39 ล้านคน-เที่ยว ลดลงจากปีใหม่ 2564 โดยประชาชนทยอยเดินทางออกตั้งแต่วันที่ 27 ธ.ค. 2564 และเดินทางกลับพร้อมกันในวันที่ 4 ม.ค. 2565 ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดเตรียม ทั้งรถโดยสาร เรือโดยสาร รถไฟ รถไฟฟ้า และเครื่องบิน เพียงพอทั้งเที่ยวไปและกลับโดยไม่มีผู้โดยสารตกค้าง

ทั้งนี้ ได้มีการกำกับดูแลเพื่อป้องกันและลดการเกิดอุบัติเหตุจากการขนส่งสาธารณะ โดยเข้มงวดการกำกับดูแลและการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งรถโดยสารสาธารณะและรถตู้โดยสารสาธารณะทุกคันต้องติดตั้งระบบ GPS และศูนย์บริหาร GPS เฝ้าระวังการใช้ความเร็วเกิน กฎหมายกำหนด มีการจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังตรวจตราและดูแลพื้นที่บริเวณจุดตัดรถไฟกับถนนที่เป็นจุดเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ

ขณะที่มีการตรวจรถโดยสารสาธารณะ 67,343 คัน พบบกพร่อง 4 คัน สั่งให้แก้ไข/เปลี่ยนทันที ตรวจท่าเรือ 179 แห่ง ไม่ผ่านเกณฑ์ 3 แห่ง สั่งให้งดบริการ/ตรวจเรือโดยสาร 4,385 ลำ ไม่พบข้อบกพร่อง และตรวจเครื่องบิน 14 ลำ พบข้อบกพร่อง 1 ลำ ซึ่งสั่งให้แก้ไขทันที

ส่วนผู้ปฏิบัติงาน ประกอบด้วย ตรวจพนักงานขับรถโดยสารสาธารณะ 67,343 คน ผู้ปฏิบัติงานรถไฟจำนวน 1,655 คน พนักงานประจำเรือ จำนวน 5,674 คน ซึ่งผู้ปฏิบัติงานทุกรายไม่พบการเสพสิ่งเสพติดและไม่พบระดับแอลกอฮอล์ในลมหายใจ

ในส่วนของการเกิดอุบัติเหตุนั้นพบว่ารถโดยสารสาธารณะเกิดอุบัติเหตุจำนวน 6 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 3 ราย และบาดเจ็บ 2 คน รถไฟเกิดอุบัติเหตุจำนวน 6 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บ 3 คน ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้มอบหมายหน่วยงานในสังกัดดำเนินการตามกฎหมาย รวมถึงเยียวยาผู้ประสบภัยและครอบครัวอย่างเหมาะสม ส่วนทางน้ำและทางอากาศไม่มีการเกิดอุบัติเหตุ ทั้งนี้ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องการนำกรณีอุบัติเหตุมาถอดบทเรียน เพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและระบบขนส่งให้มีความปลอดภัยเพิ่มขึ้น

สำหรับสถิติการเดินทางบนโครงข่ายถนนของกระทรวงคมนาคม ในช่วงระหว่างวันที่ 29 ธ.ค. 2564-4 ม.ค. 2565 รวม 7 วัน มีประชาชนเดินทางเข้า-ออกกรุงเทพมหานครบนถนนทางหลวงสายหลัก ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง และทางด่วน รวมจำนวน 16.07 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

โดยมีการยกเว้นค่าธรรมเนียมผ่านทางบนทางพิเศษ 5 เส้นทาง ได้แก่ ทางพิเศษบูรพาวิถี กาญจนาภิเษก ศรีรัช อุดรรัถยา และเฉลิมมหานคร และทางหลวงพิเศษ 2 เส้นทาง ได้แก่ หมายเลข 7 (กรุงเทพฯ-พัทยา) และหมายเลข 9 สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ถนนกาญจนาภิเษก

รวมถึงเพิ่มทางเลือกในการเดินทางให้ประชาชนที่จะเดินทางไปภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเปิดให้ประชาชนใช้บริการเดินทางฟรีบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) ในช่วงปากช่อง-สีคิ้ว ระยะทาง 35.75 กิโลเมตร รองรับทิศทางขาออกกรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 29-31 ธันวาคม 2564 พบว่ามีรถยนต์เลี่ยงไปใช้บริการสาย M6 จำนวน 0.27 ล้านคัน คิดเป็น 19% ของปริมาณรถบนถนนมิตรภาพ และรองรับทิศทางขาเข้ากรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 1-4 ม.ค. 2565 พบว่ามีรถยนต์เลี่ยงไปใช้บริการสาย M6 จำนวน 0.35 ล้านคัน คิดเป็น 21% ของปริมาณรถบนถนนมิตรภาพ

ขณะที่พบว่ามีการเกิดอุบัติเหตุบนโครงข่ายถนนของกระทรวงคมนาคม ช่วงระหว่างวันที่ 29 ธ.ค. 2564-4 ม.ค. 2565 มีจำนวน 1,651 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตจำนวน 193 ราย ลดลงจากปีใหม่ 2564 ในขณะที่มีผู้บาดเจ็บจำนวน 1,801 ราย เพิ่มขึ้น ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการใช้ความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด การขับรถตัดหน้ากระชั้นชิด และการดื่มแล้วขับ สำหรับยานพาหนะที่ประสบอุบัติเหตุสูงสุดได้แก่ รถจักรยานยนต์ รถปิกอัพ และรถส่วนบุคคล/รถสาธารณะ ตามลำดับ

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) พิจารณาวิเคราะห์ในรายละเอียดในแต่ละจุด/พื้นที่ที่เกิดอุบัติเหตุถึงสาเหตุ รวมถึงกรณีอุบัติเหตุใหญ่รถโดยสารสาธารณะ และรถไฟ เพื่อเสนอแนวทางป้องกัน/แก้ไข เพื่อเสนอกระทรวงคมนาคมนำมาจัดทำเป็นมาตรการหรือแนวทางปฏิบัติ และสั่งการมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการต่อไป

นอกจากนี้ ให้กรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ที่มีโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ เช่น ทางหลวงแผ่นดินสาย 304 บริเวณเขาหินซ้อน ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง/ปรับปรุงเส้นทางในช่วงเทศกาลจะต้องให้ผู้รับเหมาก่อสร้างคืนพื้นผิวจราจร โดยรักษาจำนวนช่องจราจรไม่ให้น้อยกว่าช่องจราจรเดิม รวมทั้งติดตั้งป้ายสัญญาณเตือนและไฟฟ้าส่องสว่างให้เห็นชัดเจน เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ

อ้างอิง
https://m.mgronline.com/business